คมศักดิ์ สว่างไสว
นักวิจัยอิสระ
|||| ถ้าหากเราได้ตามเมกะเทรนด์ของโลกเป็นประจำก็จะพบว่า แนวโน้มใหญ่ของโลกเรื่องหนึ่งที่ถูกรายงานทั้งบนเว็บไซต์และการศึกษาขององค์กรต่างๆ ก็คือ “สิ่งแวดล้อม” เพราะทุกคนรู้ดีว่า ชีวิตเราไม่สามารถดำรงอยู่ได้ หากปราศจากสภาพแวดล้อมที่สะอาดและสมบูรณ์ ดังนั้น ในอนาคตผู้คนจะสนใจที่ใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่าและบริโภคสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น รวมทั้งจะสนใจบริษัทที่ใส่ใจเรื่องพวกนี้ด้วยเช่นกัน ซึ่งเรื่องนี้จะเป็นแรงกดดันต่อบริษัทที่จะต้องปรับตัวตามพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป และเป็นโอกาสในการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ของบริษัท ให้เป็น “ธุรกิจสีเขียว ” มากขึ้น
แล้ว “ธุรกิจสีเขียวคืออะไร?”
ณ ปัจจุบัน ธุรกิจสีเขียวยังไม่มีนิยามที่ตายตัว แต่ละองค์กรที่เกี่ยวข้องก็จะให้คำจำกัดความของตัวเอง อย่างไรก็ตาม เราสามารถหาองค์ประกอบต่างๆ ที่เหมือนกันได้ ดังนี้
- ธุรกิจสีเขียวต้องมีหลักการ นโยบาย และหน้าที่ที่คำนึงถึงความยั่งยืนและความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
- ธุรกิจสีเขียวต้องยึดถือการดำเนินงานและการตัดสินใจทางธุรกิจ ตามหลักการ นโยบาย และหน้าที่ที่คำนึงถึงความยั่งยืนและความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
- ธุรกิจสีเขียวต้องไม่ส่งผลกระทบทางลบ หรือ ลดผลกระทบทางลบ หรือ ส่งผลกระทบทางบวก ต่อสภาพแวดล้อมของท้องถิ่นหรือโลก รวมทั้งต่อประชาชน ชุมชน สังคม และเศรษฐกิจ
- ธุรกิจสีเขียวต้องมีกิจกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อาทิเช่น
- กิจกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในสำนักงาน เช่น การเปลี่ยนมาใช้หลอดไฟที่ประหยัดพลังงาน การนำกระดาษกลับมาใช้ซ้ำ และการปลูกต้นไม้รอบสำนักงาน เป็นต้น
- กิจกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในโรงงาน เช่น การลดการใช้พลังงานในกระบวนการผลิต เป็นต้น
- การผลิตผลิตภัณฑ์และบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
- การขนส่งวัตถุดิบและสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (โปรดดูเชิงอรรถ 1)
- การเดินทางของพนักงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การสนับสนุนให้พนักงานเดินทางโดยใช้การขนส่งสาธารณะ และการประชุมผ่าน Teleconference เป็นต้น
- กิจกรรมอื่นๆ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
- ธุรกิจสีเขียวต้องใส่ใจในคุณภาพชีวิตของพนักงาน เช่น ไม่มีลักษณะเป็นโรงงานนรกหรือมีการใช้แรงงานเด็ก มีรายได้ที่เหมาะสม และอยู่ในสภาพการทำงานที่ปลอดภัย เป็นต้น
- ธุรกิจสีเขียวต้องปกป้องและเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้–บริโภคและลูกค้า เช่น มีการใช้ส่วนผสมที่ปลอดภัยต่อสุขภาพ และมีการผลิตผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบสนองต่อวิถีชีวิตสีเขียว (Green Living) เป็นต้น
- บริษัทสามารถแสวงหาผลกำไรจากการดำเนินธุรกิจสีเขียวได้ ทั้งในรูปการลดค่าใช้จ่ายและต้นทุนในบริษัท และการขายผลิตภัณฑ์และบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
เราจะเห็นได้ว่า ธุรกิจสีเขียวมีความครอบคลุมในหลากหลายประเด็น เช่น สิ่งแวดล้อม สุขภาพ และสิทธิมนุษยชน เป็นต้น และในหลายระดับ เช่น พนักงาน ลูกค้า ประชาชนทั่วไป สังคม และเศรษฐกิจ เป็นต้น รวมทั้งบริษัทยังสามารถแสวงหาผลกำไรจากธุรกิจสีเขียวได้อีกด้วย
แล้ว “ธุรกิจสีเขียวส่งผลดีต่อบริษัทอย่างไร?”
ธุรกิจสีเขียวสามารถสร้างผลประโยชน์ให้กับบริษัทในหลายๆ ด้านทั้งในรูปที่เป็นตัวเงินและไม่เป็นตัวเงิน ดังนี้
- ลดต้นทุนของบริษัท เช่น ห้างวอลมาร์ท (Walmart) ประหยัดค่าใช้จ่ายและต้นทุนได้มากกว่า 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี จากการริเริ่มการทำธุรกิจที่ยั่งยืน หรือ ดูปองท์ (Dupont) สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายและต้นทุนได้ 2,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี ในช่วงก่อนปี 2007 จากการเพิ่มประสิทธิภาพพลังงาน (Energy Efficiency)
- รับรายได้จากการขายผลิตภัณฑ์และบริการสีเขียว เช่น เจเนอรัล อิเล็คทริค หรือ จีอี (General Electric: GE) สามารถขายผลิตภัณฑ์และบริการสีเขียวได้ถึง 70,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วงปี 2005 ถึง 2010 หรือ อินเตอร์เฟซ (Interface) สามารถขายพรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมคิดเป็น 28% ของกำไรจากการดำเนินงานในช่วง 14 ปีที่ผ่านมา
- สร้างชื่อเสียงให้กับบริษัทและภาพลักษณ์ให้กับแบรนด์ เช่น กรีน ฟลอรัล คราฟท์ (Green Floral Crafts) ซึ่งเป็นบริษัทขายของตกแต่งบ้านที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ได้สื่อสารไปยังลูกค้าเกี่ยวกับการทำธุรกิจสีเขียว และการผลิตสินค้าที่ถูกทำขึ้นโดยครอบครัวในหมู่บ้านต่างๆ ทั่วโลก ทำให้สร้างความแตกต่างให้กับสินค้าเมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่ง และทำให้ลูกค้ารู้สึกว่า เขากำลังซื้อสินค้าที่ดี ทั้งในแง่คุณค่าที่ได้รับจากสินค้าโดยตรง และมีส่วนช่วยเหลือสังคม รวมทั้งรักษาสิ่งแวดล้อมด้วย
เชิงอรรถ:
- คำว่า “ผลิตภัณฑ์และบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” (Environmentally Friendly Products and Services หรือ Environment-Friendly Products and Services) กับ “ผลิตภัณฑ์และบริการสีเขียว” (Green Products and Services) คือคำเดียวกัน สามารถใช้ทดแทนกันได้ นอกจากนี้ ยังมีคำอื่นๆ ที่อยู่ในขอบข่ายนี้และสามารถใช้แทนกันได้ เช่น Eco-Friendly Products and Services และ Nature-Friendly Products and Services เป็นต้น
*ตีพิมพ์ลงใน จุลสารจับกระแสเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy Watch) ฉบับที่ 1 | ปีที่ 1 | พ.ศ. 2558