อ.ดร.อนิณ อรุณเรืองสวัสดิ์
คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
การแก้ไขปัญหาขยะที่ดีที่สุดก็คือการลดปริมาณขยะลงให้เหลือน้อยที่สุด เพราะนอกจากจะเป็นการประหยัดทรัพยากรแล้ว ยังช่วยประหยัดต้นทุนในการกำจัดขยะอีกด้วย หลักการสากลในการลดปริมาณขยะ ก็คือ หลักการ 3R ซึ่งได้แก่ การลดการใช้ (Reduce) การใช้ซ้ำ (Reuse) และ การนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle)
จากรายงานของกรมควบคุมมลพิษพบว่า ในปี 2558 คนไทยสร้างขยะเฉลี่ยคนละประมาณ 1.1 กิโลกรัมต่อวัน การลดปริมาณขยะคงต้องอาศัยจิตสำนึกของประชาชนในการช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อม เช่น การปฏิเสธการใช้ถุงพลาสติกเมื่อไม่มีความจำเป็น การใช้ถุงผ้าแทนถุงพลาสติก และ การนำบรรจุภัณฑ์สินค้ากลับมาใช้ใหม่ เป็นต้น อย่างไรก็ดีรัฐฯ สามารถสร้างมาตรการในการลดปริมาณขยะลงได้ เช่น ในเมืองซานฟรานซิสโก ประเทศสหรัฐฯ ถึงขนาดออกกฎหมายห้ามมิให้ร้านค้าใส่ถุงพลาสติกให้ลูกค้า แต่ให้ขายถุงที่สามารถใช้ซ้ำได้ให้กับลูกค้า ประเทศญี่ปุ่นมีการจัดเก็บค่าถุงพลาสติก สำหรับประเทศไทยมีการให้คะแนนสะสมแต้มหากไม่ใช้ถุงพลาสติก เป็นต้น
สำหรับการเก็บค่าธรรมเนียมขยะในประเทศไทย เป็นการจัดเก็บเพื่อเป็นค่าธรรมเนียมในการบริหารจัดการขยะเท่านั้น ไม่ได้มีส่วนสร้างแรงจูงใจในการลดขยะแต่ประการใด เนื่องจากไม่ว่าจะทิ้งมากหรือน้อยก็จ่ายเท่าเดิมซึ่งต่างจากค่าธรรมเนียมขยะในเมืองโตรอนโต้ ประเทศแคนาดา ที่มีการจัดเก็บค่าธรรมเนียมขยะตามขนาดของถังขยะ หากทิ้งมากก็ต้องจ่ายมาก เป็นการสร้างแรงจูงใจให้เกิดการลดปริมาณขยะ และ ส่งเสริมให้เกิดการใช้ซ้ำมากขึ้น แต่ข้อพึงระวังเกี่ยวกับนโยบายดังกล่าว ก็คือ อาจจะเกิดปัญหาการลักลอบทิ้งขยะในที่สาธารณะเพื่อเลี่ยงค่าธรรมเนียมก็เป็นได้
สำหรับการนำกลับมาใช้ใหม่(recycle) นั้นจะต้องมีการส่งเสริมให้เกิดการคัดแยกขยะควบคู่กันไปด้วย คนในประเทศยุโรป และ ญี่ปุ่น ทำการคัดแยกขยะกันในระดับครัวเรือนเป็นเรื่องปกติในชีวิตประจำวัน ภาครัฐฯ จัดหาถังขยะแยกประเภทไว้คอยรองรับ สำหรับประเทศไทยนั้นไม่เคยมีการรณรงค์เรื่องการคัดแยกขยะอย่างจริงจัง ไม่มีถังขยะแยกประเภทที่เพียงพอ หรือ แม้แต่การจัดเก็บขยะของเทศบาลก็ไม่มีระบบการคัดแยกขยะที่เหมาะสม
อีกมาตรการหนึ่งในการส่งเสริมให้เกิดการนำกลับมาใช้ใหม่ คือระบบ จ่ายค่าธรรมเนียมล่วงหน้าแล้วขอคืนทีหลัง (deposit-refund) ในระบบนี้ผู้บริโภคต้องจ่ายค่าธรรมเนียมรีไซเคิลล่วงหน้า เมื่อซื้อสินค้า เช่น น้ำขวด น้ำอัดลมกระป๋อง หรือ เครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น แต่ผู้บริโภคสามารถขอคืนค่าธรรมเนียมดังกล่าวในภายหลังได้ หากนำซากผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมาส่งคืน จะเห็นได้ว่ามาตรการนี้จะช่วยสร้างแรงจูงใจให้เกิดการคัดแยกขยะและนำขยะเหล่านั้นกลับมาใช้ใหม่ มาตรการนี้ยังเหมาะสำหรับสินค้าที่มีความเป็นพิษ เช่น ถ่านไฟฟ้า แบตเตอรี่ หรือ น้ำมันเครื่อง เป็นต้น เนื่องจากเป็นขยะอันตราย และ ต้องได้รับการจัดเก็บที่ถูกต้อง หากจัดเก็บค่าธรรมเนียมในอัตราที่เหมาะสมผู้บริโภคก็จะนำส่งคืนขยะอันตรายเหล่านี้เพื่อนำไปกำจัดอย่างถูกวิธ ลดปัญหาการนำไปทิ้งในที่ต่างๆ ซึ่งจะก่อให้เกิดผลเสียอย่างมากต่อสิ่งแวดล้อม

แผนภาพข้างต้นแสดงให้เห็นตัวอย่างอัตราค่าธรรมเนียมล่วงหน้าที่จัดเก็บจากขวดน้ำดื่มในประเทศต่างๆ โดย แกนนอนแสดงอัตราภาษีต่อหน่วยในสกุลเงินปอนด์ ส่วนแกนตั้งแสดงอัตราการนำส่งคืนขวดน้ำ จากภาพก็จะเห็นได้ว่าค่าธรรมเนียมส่งผลต่ออัตราการนำส่งคืนอย่างเห็นได้ชัด ยิ่งอัตรามีความสูงมากขึ้นเท่าใด อัตราการนำส่งคืนก็จะยิ่งเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น อย่างไรก็ดีการจัดเก็บค่าธรรมเนียมที่สูงอาจจะกระทบต่อผู้บริโภคที่มีรายได้น้อยได้
มาตรการต่างๆ ที่กล่าวไปเป็นมาตรการเสริมที่กระตุ้นในประชาชนลดการสร้างขยะ และ นำขยะกลับมาใช้ใหม่เพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ดีมาตรการที่ดีที่สุด คือ การรณรงค์สร้างจิตสำนึกเกี่ยวกับเรื่องขยะอย่างจริงจัง ดังเช่น โครงการตาวิเศษ ซึ่งรณรงค์ลดการทิ้งขยะไม่เป็นที่เป็นทางซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นโครงการที่มีการรณรงค์อย่างจริงจัง เข้าถึงประชาชนอย่างทั่วถึง และต่อเนื่อง จนทำให้กรุงเทพฯ สะอาดขึ้นอย่างเห็นได้ชัด หากภาครัฐฯ จัดโครงการรณรงค์เกี่ยวกับการลดปริมาณขยะ การลดการใช้ถุงพลาสติก การคัดแยกขยะ หรือ การรณรงค์สร้างความตระหนักเกี่ยวกับปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่นับวันจะทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ก็น่าจะดีไม่น้อย