รศ.ดร.ชยันต์ ตันติวัสดาการ
คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เป้าหมายเมืองไร้ขยะ ในปี ค.ศ. 2020
คามิคัทสึ เป็นเมืองด้านตะวันตกเฉียงใต้ของญี่ปุ่นที่ไม่เหมือนเมืองใดในโลก เพราะผู้คนของเมืองนี้มีเป้าหมายที่เหลือเชื่อ และอาจกลายเป็นเมืองต้นแบบของเมืองอื่นๆ ของโลกได้เลยทีเดียว ประชาชนของเมือง คามิคัทสึ จำนวนหนึ่งพันเจ็ดร้อยคน ร่วมกันให้คำมั่นสัญญาที่จะยุติการใช้พื้นที่ฝังกลบขยะและเตาเผาขยะโดยเด็ดขาดภายในปี ค.ศ. 2020 ด้วยการรีไซเคิลและใช้ซ้ำ (recycle and reuse) ของเสีย (waste) ทุกชนิดในครัวเรือน
เมืองเล็กๆ เช่นนี้กับเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ขนาดนี้ นับว่าไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เลย แต่ปัจจุบันคามิคัทสึก็สามารถจัดการกับร้อยละ 80 ของของเสียที่เกิดขึ้นแล้ว ทั้งในรูปของการรีไซเคิล การทำปุ๋ยหมัก และการใช้ซ้ำ ส่วนที่เหลือร้อยละ 20 เท่านั้นที่ถูกนำไปฝังกลบ แถมยังช่วยให้สามารถลดต้นทุนในการจัดการลงเหลือเพียงหนึ่งในสามเท่านั้น
ชาวเมืองคามิคัทสึ ทำได้อย่างไร
กุญแจสำคัญของความสำเร็จของเมืองนี้ก็คือ การบังคับใช้กฎการรีไซเคิลที่เข้มงวดอย่างยิ่ง ด้วยการแยกขยะที่รีไซเคิลชนิดต่างๆ ออกเป็นประเภทย่อยถึง 34 ประเภท โดยทุกครัวเรือนทำการแยกขยะเอง และนำเศษวัสดุที่ได้รับการล้างทำความสะอาดแล้ว มายังศูนย์รีไซเคิลของเมือง ผู้บริหารศูนย์ฯดังกล่าวอธิบายถึงสาเหตุที่ต้องแยกประเภทของเศษวัสดุรีไซเคิลอย่างละเอียดและยังต้องทำความสะอาดก่อนว่า ช่วยทำให้ศูนย์ฯ สามารถขายวัสดุได้ราคาที่สูง
การขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเริ่มต้นขึ้นมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2003 โดยทุกครัวเรือนจะต้องทำการแยกขยะที่สามารถทำการรีไซเคิลได้ ทำความสะอาด แล้วนำวัสดุเหล่านั้นไปที่ศูนย์ ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องของการแยกขยะอีกครั้งว่ามีการนำเอาเศษวัสดุเหล่านั้นใส่ลงในภาชนะที่ถูกต้องตามป้ายที่กำกับไว้หรือไม่ ป้ายดังกล่าวยังให้ข้อมูลแก่ชาวเมืองด้วยว่า เศษวัสดุนั้นจะได้รับการรีไซเคิลไปเป็นวัสดุใหม่ประเภทใด มีต้นทุนหรือรายรับเท่าใด นอกจากนี้เมืองคามิคัทสึยังได้จัดตั้งร้านที่มีความหมายว่า “วงกลม” ซึ่งชาวเมืองสามารถนำเอาของใช้แล้วที่ตนไม่ต้องการมาบริจาค หรือเข้ามาเอาของที่อยู่ในร้านกลับไปใช้ได้ฟรี ร้านดังกล่าวยังได้ขอแรงผู้สูงอายุที่มีฝีมือในการทำงานเย็บปักถักร้อย ให้ช่วยนำวัสดุเหลือใช้ต่างๆ เหล่านั้น มาทำของใช้ใหม่ เช่น ตุ๊กตาหมี ถุงผ้า รองเท้าแตะ และเสื้อ เป็นต้น กระบวนการรีไซเคิล ใช้ซ้ำ และนำมาผลิตใหม่เหล่านี้ นอกจากช่วยลดขยะ ความจำเป็นในการฝังกลบ ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการผลิตและการทิ้งของเสียได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ยังได้ก่อให้เกิดความผูกพันกันของชุมชน การให้คุณค่าแก่ผู้สูงวัย ได้อีกด้วย
อะไรคือแรงผลักดันให้ชาวเมืองคามิคัทสึตัดสินใจทำเช่นนี้
แรงกระตุ้นที่สำคัญที่อยู่เบื้องหลังการขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าวมาจาก ความตระหนักของชาวเมืองถึงความเสียหาย ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และผลร้ายต่อสุขภาพของชาวเมือง จากการเผาขยะในพื้นที่เปิด ซึ่งชาวเมืองต่างเห็นว่าเป็นสิ่งที่ไม่สมควรที่จะเกิดขึ้น ชุมชนชาวเมืองคามิคัทสึจึงรวมกลุ่มกัน และสร้างระบบที่น่าทึ่งดังกล่าวขึ้น
แน่นอนว่า ในช่วงแรกนั้นชาวเมืองคามิคัทสึบางส่วนก็มีความลังเล เกี่ยวกับภาระกิจการแยกขยะที่รีไซเคิลได้ แล้วยังต้องทำความสะอาด ซึ่งเป็นเรื่องยุ่งยากและดูเหมือนจะไม่น่าสามารถปฏิบัติได้จริง เพราะต้องมีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่เคยชินอย่างมาก แต่เดี๋ยวนี้กิจกรรมเหล่านี้ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของกิจวัตรประจำวันของชีวิตชาวเมืองไปแล้ว ฮัทซูอิ คาตายามะ แม่บ้านชาวเมืองคามิคัทสึ ให้สัมภาษณ์กับ Seeker Stories ว่า “หลังจากที่คุณคุ้นเคยกับมัน มันก็กลายเป็นเรื่องปกติ ตอนนี้ดิฉันไม่ได้คิดถึงมันด้วยซ้ำ มันกลายเป็นธรรมชาติของดิฉันที่จะแยกขยะให้ถูกต้อง”[1] ชาวเมืองได้ทำการเปลี่ยนแปลงวิถีการดำเนินชีวิตให้เป็นแบบที่ไม่สร้างของเสีย สร้างสังคมที่ทุกผู้คนนับถือซึ่งกันและกัน และเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ระบบการช่วยเหลือซึ่งกันและกันของชุมชนนี้คือสิ่งที่ทำให้เมืองดังกล่าวประสบความสำเร็จ
บทเรียนที่ชัดเจนจากตัวอย่างของชาวเมืองคามิคัทสึก็คือ ความตระหนักในโทษของวิถีชีวิตที่ทิ้งขว้างทรัพยากรซึ่งยังมีค่า หากเราใส่ใจที่จะคิดหาวิธีที่จะนำมาใช้ใหม่ ความตระหนักในโทษของวิถีการจัดการกับของเสียรูปแบบเดิมที่สร้างความเสียหายให้กับชุมชนเอง และความมีวินัยของผู้คนในชุมชนดังกล่าว รวมทั้งการรวมตัวกันของคนในชุมชนในการที่จะร่วมผลักดันภารกิจที่ไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นไปได้ ให้ประสบความสำเร็จ