คมศักดิ์ สว่างไสว นักวิชาการประจำศูนย์ฯ
จากการเสียชีวิตของลูกพะยูน “มาเรียม” ที่ได้กินขยะพลาสติกเข้าไปเพราะคิดว่าเป็นอาหาร และการตรวจพบไมโครพลาสติกในกระเพาะปลาทู ซึ่งเป็นปลาที่คนไทยนิยมรับประทาน ทำให้ในช่วงที่ผ่านมา ได้สร้างกระแสความสนใจและความตระหนัก ในปัญหาขยะพลาสติกและไมโครพลาสติกของสังคมไทยเป็นอย่างมาก จนเกิดการรณรงค์ไม่ให้ใช้ถุงพลาสติกและผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวกันอย่างแพร่หลาย รวมทั้งการเก็บขยะตามชายหาดท่องเที่ยว
รูปที่ 1 ข่าวการเสียชีวิตของพะยูนน้อย “มาเรียม” และการตรวจพบไมโครพลาสติกในกระเพาะปลาทู
ที่มา: https://www.facebook.com/mangozero/posts/2306206699708902, https://www.facebook.com/mnpoc.trang3/posts/2120974728207664
เรื่องนี้ทำให้ผู้เขียนสงสัยว่า ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยได้มีนโยบายจากภาครัฐอะไรบ้างในการจัดการปัญหาขยะพลาสติก ภาคเอกชนได้มีส่วนร่วมหรือไม่ นักวิชาการได้ให้ข้อเสนอแนะอะไรบ้าง และมีโครงการที่ดำเนินงานแล้วได้ผลลัพธ์ที่ดีเยี่ยมบ้างไหม ซึ่งจากการค้นคว้าและรวบรวมข้อมูล ทำให้ผู้เขียนได้พบกับ 5 นโยบาย/ข้อเสนอแนะ/โครงการที่น่าสนใจ เพื่อการจัดการขยะพลาสติกของไทย ดังนี้
(ร่าง) โรดแมปการจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561-2573
สำหรับนโยบายหลักของประเทศไทยในการจัดการขยะพลาสติก คงจะหนีไม่พ้น “(ร่าง) โรดแมปการจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561-2573” ของกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นกรอบและทิศทางการดำเนินการป้องกัน และแก้ไขปัญหาการจัดการขยะพลาสติกของประเทศ โดยโรดแมปประกอบด้วย 2 เป้าหมาย ดังนี้
เป้าหมายที่ 1 การลดและเลิกใช้พลาสติกเป้าหมาย ด้วยการใช้วัสดุทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งแบ่งออกเป็นสองช่วง คือ ระยะที่หนึ่งจะลดและเลิกใช้พลาสติก 3 ชนิด ได้แก่ พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่ม (Cap Seal) ผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ผสมสารอ็อกโซ่ (Oxo) และไมโครบีด (Microbead) ภายในปี 2562 ส่วนระยะที่สองจะลดและเลิกใช้พลาสติกอีก 4 ชนิด ได้แก่ ถุงพลาสติกหูหิ้วขนาดความหนาน้อยกว่า 36 ไมครอน กล่องโฟมบรรจุอาหาร แก้วพลาสติกแบบบางใช้ครั้งเดียว และหลอดพลาสติก (ยกเว้นการใช้กรณีมีความจำเป็นสำหรับเด็ก คนชรา และผู้ป่วย) ภายในปี 2565
เป้าหมายที่ 2 การนำขยะพลาสติกเป้าหมายกลับมาใช้ประโยชน์ 100% ภายในปี 2570 โดยจะมีการศึกษาและกำหนดเป้าหมายของพลาสติกในส่วนที่จะนำกลับมาใช้ประโยชน์ และส่วนที่ของเสียจะถูกนำไปกำจัดให้ถูกวิธี
ซึ่งทั้ง 2 เป้าหมายมีแผนปฏิบัติการแบ่งออกเป็น 3 มาตรการ คือ 1) มาตรการลดการเลิกขยะพลาสติก ณ แหล่งกำเนิด โดยจะมีการสนับสนุนการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 2) มาตรการลด เลิกใช้พลาสติก ณ ขั้นตอนการบริโภค โดยขับเคลื่อนการลดและเลิกใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว และ 3) มาตรการจัดการขยะพลาสติกหลังการบริโภค โดยจะมีการส่งเสริมและสนับสนุนการนำขยะพลาสติกเข้าสู่การนำกลับมาใช้ให้เป็นประโยชน์
นอกจากนี้ ยังมีการจัดการและการขับเคลื่อนผ่าน 4 กลไก คือ 1) การสร้างความรู้และความเข้าใจหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการดำเนินการการ 2) การรณรงค์ประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อออนไลน์ 3) การใช้เครื่องมือและกลไกที่เหมาะสม เช่น การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทุกภาคส่วน และการเร่งออกกฎหมาย และ 4) การจัดทำฐานข้อมูลขยะพลาสติกของประเทศ
สำหรับการดำเนินนโยบายอย่างเป็นรูปธรรมนั้น กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมีข้อตกลงที่จะร่วมมือกับห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่และร้านค้าสะดวกซื้อ 43 แห่ง หยุดจ่ายถุงพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียว (Single-use Plastic) ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 เป็นต้นไป ซึ่งเร็วกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ 2 ปี ส่วนสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เตรียมออกนโยบายห้ามใช้ไมโครบีด ในผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิว (Rinse-off Products) ซึ่งคาดว่าจะบังคับใช้ตั้งแต่ 1 มกราคม 2563 เช่นเดียวกัน
รูปที่ 2 (ร่าง) โรดแมปการจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561-2573
ที่มา: http://www.pcd.go.th/Info_serv/File/Plastic%20Roadmap%20Poster.jpg
นโยบายเศรษฐกิจหมุนเวียนปี พ.ศ. 2562-2563
ในส่วนของภาคเอกชน หอการค้าไทยต้องการที่จะกำหนดแผนการดำเนินงานขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) โดยมุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการขยะพลาสติกและขยะอาหารแบบบูรณาการ ผ่านทางเครือข่ายที่มีสมาชิกอยู่ราว 120,000 ราย จึงได้ว่าจ้างสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ (TDRI) ศึกษาที่มาของขยะทะเลและมาตรการจัดการปัญหาขยะทะเล ซึ่งจากการศึกษาพบว่า
ปัญหาขยะทะเลมีการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยมีปริมาณขยะทะเล 400,000 ตัน ในปี 2553 แต่ได้เพิ่มขึ้นเป็น 1,000,000 ตัน ในปี 2562 ซึ่งขยะทะเลไทยส่วนใหญ่พบว่าเป็นถุงพลาสติก 11.7% กล่องโฟม 9.9% ห่ออาหาร 8.8% ถุงก๊อปแก๊ป 8.6% ขวดแก้ว 7.5% ขวดพลาสติก 7.2% และหลอดดูด 5.1% สำหรับแหล่งที่มาขยะทะเลไทยพบว่า อันดับหนึ่งเป็นการท่องเที่ยวชายหาด รองลงมาเป็นชุมชนริมน้ำ และการฝังกลบที่ไม่ถูกวิธี
ทั้งนี้ TDRI ได้ให้ข้อเสนอแนะในการป้องกันและแก้ไขปัญหาขยะทะเล คือ 1) รัฐบาลควรประกาศให้การแก้ไขปัญหาขยะเป็นวาระแห่งชาติ 2) รัฐควรออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับปัญหาขยะ เช่น การเลิกใช้โฟม การเก็บเงินหากใช้ถุงพลาสติก และการมัดจำขวด เป็นต้น และ 3) ภาครัฐและภาคเอกชนต้องร่วมกันรณรงค์ลดการสร้างขยะ พร้อมส่งเสริมการแยกขยะ
รูปที่ 3 แหล่งที่มาขยะทะเลไทย
ที่มา: https://news.thaipbs.or.th/content/283517
สำหรับหอการค้าไทยได้มีการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการระดมความคิดเห็นของคณะกรรมการและเครือข่าย เพื่อร่วมกันกำหนดจุดยืนเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนให้เป็นรูปธรรม ทั้งนี้ ได้กำหนดแผนการดำเนินงานในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนทั้งหมด 4 แผน ซึ่งเน้นหวังผลในเชิงปฏิบัติและบูรณาการครอบคลุมทั้งประเทศ โดยมุ่งเน้นขยะพลาสติก ขยะอาหาร และอาหารเหลือ ได้แก่
- การรณรงค์ให้ความรู้และเปลี่ยน Mindset โดยเน้น 2 กลุ่มเป้าหมาย คือ กลุ่มนักเรียนและนักศึกษา เช่น การบรรจุในบทเรียนชุดความรู้ในหลักสูตร การจัดทำบอร์ดเกมส์ และการนำโมเดลโรงเรียนต้นแบบมาเผยแพร่สร้างโครงการนำร่อง เป็นต้นแบบสร้างรายได้เพิ่มมูลค่าจากขยะพลาสติกสู่โรงเรียน เป็นต้น และกลุ่มประชาชนทั่วไป ซึ่งประกอบด้วย ชุมชน ผู้ประกอบการ และนักท่องเที่ยว โดยใช้ Social Media, Influencers, YouTubers รวมถึงพระสงฆ์และวัด ให้เข้ามามีส่วนร่วม
- การแยกขยะ เช่น จัดตั้งถังแยกขยะในจุดที่เหมาะสม โดยร่วมมือกับภาครัฐและเครือข่าย
- การลดขยะอาหาร (Food Waste) ในภาคการค้าและบริการ เช่น โรงแรม โดยการเผยแพร่แนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุด (Best Practice) ขององค์กร ที่มีการบริหารจัดการ Food Waste ที่มีประสิทธิภาพ
- การนำอาหารเหลือที่สามารถบริโภคได้ (Food Surplus) ไปบริจาคผู้ขาดแคลน
ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายฉบับย่อสถานการณ์และแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาขยะทะเลและชายฝั่ง
“ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายฉบับย่อสถานการณ์และแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาขยะทะเลและชายฝั่ง” เป็นเอกสารภายใต้โครงการการจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายฉบับย่อในประเด็นเร่งด่วนเกี่ยวกับผลประโยชน์ทางทะเลของประเทศไทย พ.ศ. 2559-2561 โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ซึ่งได้นำเสนอปัญหาขยะทะเลและชายฝั่งที่ส่วนใหญ่แล้วเป็นขยะพลาสติก โดยมีแหล่งที่มาจากกิจกรรมบนฝั่ง 80% เช่น ชุมชน แหล่งทิ้งขยะบนฝั่ง บริเวณท่าเรือ และการท่องเที่ยวชายหาด เป็นต้น และกิจกรรมในทะเล 20% เช่น การขนส่งทางทะเล การประมง และการท่องเที่ยวทางทะเล เป็นต้น ทั้งนี้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายฉบับย่อมี 4 ประเด็น ดังนี้
- การป้องกันปัญหาขยะทะเลจากแหล่งกำเนิดขยะทั้งบนบกและในทะเล โดยการลดปริมาณขยะพลาสติกที่ต้องนำไปกำจัดทั้งบนบก ในพื้นที่เกาะ และพื้นที่ชายฝั่ง ออกมาตรการให้ผู้ผลิต ลด เลิก ผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียว การเพิ่มผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การสร้างแรงจูงใจให้กับผู้ผลิต การควบคุมกิจกรรมการใช้ประโยชน์ที่ก่อให้เกิดขยะทะเล และสนับสนุนแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจสีน้ำเงิน
- การแก้ไขสถานการณ์ขยะที่เกิดขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากกิจกรรมบนบก การรองรับและจัดการขยะจากกิจกรรมบนบกและในทะเล การเพิ่มประสิทธิภาพและเพิ่มบริการจัดเก็บขยะให้เข้าถึงทุกชุมชนอย่างสม่ำเสมอ การคัดแยกและนำขยะพลาสติกกลับมาเป็นวัตถุดิบ จัดตั้งศูนย์คัดแยกขยะ หรือ ธนาคารขยะ
- การแก้ไขผลกระทบที่เกิดจากปัญหาขยะทะเลและชายฝั่ง พัฒนาเทคโนโลยีและอุปกรณ์ในการติดตามเพื่อจัดการและจัดเก็บขยะในทะเล รวมทั้งแก้ไขปัญหา Microplastic และ Microbeads ที่อยู่ในห่วงโซ่อาหาร
- กลไกภาพรวม โดยการกำหนดให้มีเขตบริหารจัดการทรัพยากรจังหวัดในทะเล และการวางแผนที่การใช้ประโยชน์ ที่มีกระทรวงมหาดไทยและกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งเป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก การมี Business model เพื่อเป็นจุดเปลี่ยนในการจัดการกับ Political economy รวมถึงการปรับปรุงกฎหมายในประเทศให้ทันสมัยและเอื้อต่อการบริหารจัดการขยะในระดับประเทศ
รูปที่ 4 ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายฉบับย่อสถานการณ์และแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาขยะทะเลและชายฝั่ง
ที่มา: http://mrpolicy.trf.or.th/LinkClick.aspx?fileticket=TqcNIuZ6E7g%3D&tabid=65&mid=401
โครงการศึกษามาตรการที่เกี่ยวข้องในการจัดการถุงพลาสติก
“โครงการศึกษามาตรการที่เกี่ยวข้องในการจัดการถุงพลาสติก” เป็นโครงการที่จัดทำโดยศูนย์บริการวิชาการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ภายใต้การสนับสนุนของกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม โครงการนี้ได้ศึกษากระบวนการและแนวทางการสื่อสารต่อสาธารณชน ในการลดการใช้ถุงพลาสติกของหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ซึ่งเน้นกลุ่มเป้าหมายเป็นกลุ่มผู้ประกอบการห้างสรรพสินค้า กลุ่มภาครัฐ และกลุ่มภาคประชาสังคม รวมทั้งยังศึกษามาตรการทางเศรษฐศาสตร์ เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของประชาชนในการลดการใช้ถุงพลาสติก โดยวิเคราะห์การศึกษาความเต็มใจที่จะจ่าย (Willingness to Pay: WTP) และความเต็มใจที่จะยอมรับ (Willingness to Accept: WTA) ของประชาชนเพื่อลดการใช้ถุงพลาสติก ซึ่งจะเน้นกลุ่มเป้าหมายเป็นกลุ่มประชาชนทั่วไป ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล และจังหวัดที่มีห้างสรรพสินค้าขนาดกลางและใหญ่ ครบทุกภาคของประเทศไทย จำนวน 2,000 ตัวอย่าง
ทั้งนี้ มาตรการทางเศรษฐศาสตร์ที่คณะผู้วิจัยได้เสนอแนะไว้มี 2 แบบ คือ 1) กำหนดอัตราค่าธรรมเนียมของถุงพลาสติกหูหิ้วระหว่าง 1.5-2.0 บาทต่อถุง ซึ่งเป็นการจัดเก็บถุงหูหิ้วทุกขนาดในอัตราเดียวกัน ณ จุดขายสินค้า โดยผู้บริโภคหรือผู้ซื้อสินค้าจากร้านค้าสะดวกซื้อและห้างสรรพสินค้า จะเป็นผู้รับผิดชอบในการจ่ายเงินค่าธรรมเนียมดังกล่าว และ 2) การจ่ายเงินให้ผู้ซื้อเพื่อลดการใช้ถุงพลาสติก ซึ่งเป็นการคืนเงินสด (cash back) ในอัตรา 75 สตางค์ต่อถุง โดยผู้ขายสินค้าจะเป็นผู้รับผิดชอบในการจ่ายเงินดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม ข้อคิดเห็นจากการประชุมกลุ่มเฉพาะได้เสนอว่า มาตรการเก็บค่าธรรมเนียมถุงพลาสติก (ภายใต้หลักการของ WTP) จะมีความเหมาะสมกว่ามาตรการรับเงินคืน (ภายใต้หลักการของ WTA) เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการลดการใช้ถุงพลาสติก และเป็นไปตามหลักการ Polluter Pay Principle นั่นคือ ผู้ใช้ถุงพลาสติกต้องเป็นผู้จ่ายค่าธรรมเนียมถุงพลาสติก
รูปที่ 6 สรุปผลการสำรวจค่า WTP และ WTA
ที่มา: https://www.deqp.go.th/service-portal/environmental-media-system/electronics-detail/?id=70637
โครงการ Chula Zero Waste
“โครงการ Chula Zero Waste” หรือชื่ออย่างเป็นทางการ “แผนปฏิบัติการการจัดการขยะมูลฝอยและขยะอันตรายอย่างยั่งยืนในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2560-2564” เป็นโครงการระยะเวลา 5 ปี ที่ใช้หลักการ 3Rs (Reduce, Reuse, Recycle) เพื่อการจัดการขยะมูลฝอยและขยะอันตรายตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง ด้วยการบูรณาการความร่วมมือของทุกภาคส่วนในมหาวิทยาลัย ประกอบด้วย 6 แผนงาน 18 โครงการ
รูปที่ 6 โครงการ Chula Zero Waste
ที่มา: http://www.chulazerowaste.chula.ac.th/action-plan/
ทั้งนี้ เว็บไซต์ของโครงการได้นำเสนอข้อมูลว่า องค์ประกอบขยะโดยเฉลี่ยภายในมหาวิทยาลัยช่วงเปิดภาคเรียนเป็นขยะพลาสติก 35% ขยะกระดาษ 30% และขยะเศษอาหาร 18% แต่องค์ประกอบขยะโดยเฉลี่ยภายในมหาวิทยาลัยช่วงปิดภาคเรียนจะเปลี่ยนไป โดยเป็นขยะพลาสติก 23% ขยะกระดาษ 20% และขยะเศษอาหาร 33% สำหรับชนิดของขยะประเภทพลาสติก (ร้อยละโดยน้ำหนัก) ณ จุดพักขยะ ประกอบด้วยถุงพลาสติก 46% แก้วพลาสติก 17% พลาสติกขุ่น 15% และขวดน้ำพลาสติก 8%
ในส่วนการดำเนินงาน ทางโครงการ Chula Zero Waste ได้ร่วมมือกับร้านสหกรณ์จุฬาฯ 3 สาขา และ 7-11 ภายในมหาวิทยาลัย 5 สาขา เพื่อรณรงค์ไม่รับถุงพลาสติกเป็นระยะเวลา 3 เดือน (พ.ย. 2559 – ม.ค. 2560) ซึ่งผลปรากฏว่า มีการใช้ถุงพลาสติกลดลง 30% เมื่อเทียบกับเดือน ต.ค. 2559 ที่เป็นเส้นฐาน ต่อจากนั้น จึงเริ่มเก็บค่าถุงพลาสติกจำนวน 2 บาท ในเดือน ก.พ. 2560 ซึ่งทำให้มีการใช้ถุงพลาสติกลดลงถึง 90% หรือ คิดเป็นถุงพลาสติกมากกว่า 3,000,000 ใบ ภายในเวลา 2 ปี
รูปที่ 7 การใช้ถุงพลาสติกลดลงจากการรณรงค์ไม่รับถุงพลาสติกและการเก็บค่าถุงพลาสติก
ที่มา: วรุณ วารัญญานนท์ (2562)
นอกจากนี้ ยังมีการดำเนินงานอื่นๆ อีก ได้แก่ 1) โครงการ My Bottle ซึ่งเป็นการรณรงค์ให้พกกระบอกน้ำส่วนตัว โดยจัดหาตู้กดน้ำที่สะอาดจำนวน 60 ตู้ และแจกกระบอกน้ำมากกว่า 20,000 ใบ ในระยะเวลา 3 ปี ซึ่งผลปรากฏว่า สามารถลดขวดน้ำดื่มพลาสติกได้มากกว่า 400,000 ชิ้นต่อปี 2) โครงการ My Cup ที่ร่วมมือกับร้านกาแฟจำนวน 22 ร้าน ในการลดค่ากาแฟลง 3-5 บาท เมื่อนำแก้วมาเอง ซึ่งทำให้ลดการใช้แก้วกาแฟพลาสติกได้ 100,000 ชิ้น ภายในเวลา 2 ปี และ 3) โครงการ Zero Waste Cup ที่ร่วมมือกับโรงอาหาร 17 แห่ง ในการเลิกใช้แก้วพลาสติก แล้วมาใช้แก้วไบโอพลาสติกแทน โดยผู้ใช้บริการที่ไม่ได้นำแก้วมาเอง จะต้องเสียค่าแก้ว Zero Waste Cup จำนวน 2 บาทต่อแก้ว รวมทั้งต้องทิ้งแก้วนี้ในภาชนะที่จัดไว้ไห้ เพื่อนำไปทำปุ๋ยหมักไว้ใช้ภายในมหาวิทยาลัยต่อไป
บรรณานุกรม
- กรมควบคุมมลพิษ. (มปป). (ร่าง) โรดแมปการจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561-2573. สืบค้นจาก: http://www.pcd.go.th/Info_serv/File/Plastic%20Roadmap.pdf [30 ตุลาคม 2562]
- กุลทิพย์ ศาสตระรุจิ และคณะ. (2560). โครงการศึกษามาตรการที่เกี่ยวข้องในการจัดการถุงพลาสติก. ศูนย์บริการวิชาการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์. เสนอต่อกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
- ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายฉบับย่อสถานการณ์และแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาขยะทะเลและชายฝั่ง. 2561. สืบค้นจาก: http://mrpolicy.trf.or.th/LinkClick.aspx?fileticket=TqcNIuZ6E7g%3D&tabid=65&mid=401 [30 ตุลาคม 2562]
- ฐิตินันท์ ศรีสถิต. (2562, 23 ตุลาคม). Plastic Diary : ไมโครบีดส์ พลาสติกไซส์กระจิริดที่กำลังจะโดนแบน. สืบค้นจาก: https://themomentum.co/plastic-diary-ep5/ [30 ตุลาคม 2562]
- ไทยพีบีเอส. (2562, 29 สิงหาคม). ทีดีอาร์ไอเสนอใช้ กม.คุมการใช้พลาสติก. สืบค้นจาก: https://news.thaipbs.or.th/content/283517 [30 ตุลาคม 2562]
- ไทยโพสต์. (2562, 17 เมษายน). ครม.อนุมัติโรดแมปกำจัดขยะพลาสติก 2561-2573 ประหยัดงบ 3.9 พันล้านต่อปี. สืบค้นจาก: https://www.thaipost.net/main/detail/33836 [30 ตุลาคม 2562]
- ไทยโพสต์. (2562, 1 กันยายน). เปิดแผนแก้ ‘ขยะทะเล’ งัดไม้แข็งลดใช้ ‘พลาสติก. สืบค้นจาก: https://www.thaipost.net/main/detail/44732 [30 ตุลาคม 2562]
- ผู้จัดการออนไลน์. (2562, 13 กันยายน). รัฐเคาะห้าง “แบนถุงก๊อบแก๊บ” เล็งเก็บค่าถุง! เป็นทางเลือกแรก. สืบค้นจาก: https://mgronline.com/greeninnovation/detail/9620000088324 [30 ตุลาคม 2562]
- วรุณ วารัญญานนท์. (2562). Chula Zero Waste Initiative. ในงานสัมมนาประจำปีศูนย์วิจัยนโยบายด้านเศรษฐกิจสีเขียว ปีที่ 3. โรงแรม เดอะ สุโกศล กรุงเทพฯ. 7 ตุลาคม 2562.
- สำนักข่าวไทย. (2562, 29 สิงหาคม). หอการค้าไทยประกาศนโยบาย Circular Economy. สืบค้นจาก: https://tna.mcot.net/view/mLCeQaL [30 ตุลาคม 2562]
- หอการค้าไทย. (2562, 29 สิงหาคม). หอการค้าไทยประกาศนโยบาย CIRCULAR ECONOMY เน้นจัดการปัญหาขยะ เสนอแผนขับเคลื่อนทั่วประเทศ. สืบค้นจาก: https://www.utcc.ac.th/%E0%B8%AB%E0%B8%AD%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%84%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A8%E0%B8%99%E0%B9%82%E0%B8%A2%E0%B8%9A%E0%B8%B2/ [30 ตุลาคม 2562]
- Chula Zero Waste. (มปป.). ฐานข้อมูลขยะ. สืบค้นจาก: http://www.chulazerowaste.chula.ac.th/waste-line-data/ [30 ตุลาคม 2562]
- Green Network. 2562, 26 กรกฎาคม. “ปรับมุมมองขยะ” ให้เป็นวัตถุดิบมากกว่าของเหลือทิ้ง แก้วิกฤติขยะทะเลไทย. สืบค้นจาก: http://www.greennetworkthailand.com/%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%A1%E0%B8%B8%E0%B8%A1%E0%B8%A1%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%82%E0%B8%A2%E0%B8%B0-%E0%B8%82%E0%B8%A2%E0%B8%B0%E0%B8%97%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%A5/ [30 ตุลาคม 2562]