ดวงแก้ว ตั้งใจตรง
ในยุคที่คนเหนื่อยล้ากับการทำงานประจำ บางคนคิดถึงการลาออกจากงานแล้วทิ้งทุกอย่างไปอยู่ต่างจังหวัด บ้างก็มีเป้าหมายว่าจะไปใช้ชีวิตในชนบทหลังเกษียณ ชีวิตคงสงบ เรียบง่าย และผ่อนคลาย คงจะดีถ้าได้ไปให้ไกลจากสิ่งที่กำลังเผชิญ
แต่กว่าจะได้ไป หลายคนก็เกิดความสงสัยและความกังวลขึ้นมาชั่วขณะว่า แล้วคนที่เกิดในเมือง ที่ทำอะไรไม่เป็น พึ่งพาตัวเองไม่ได้ ต้องคอยทำงานหาเงินเพื่อแลกเปลี่ยนกับสินค้าและบริการอยู่ตลอดเวลา ขาดความเชื่อมโยงกับธรรมชาติรอบตัว ขาดความเชื่อมโยงกับรากเหง้าของตัวเอง ถ้าวันหนึ่งเขาเหล่านั้นเกิดอยากลุกขึ้นมาสร้างความเปลี่ยนแปลงในชีวิตตัวเอง โดยย้ายถิ่นฐานไปอยู่ในชนบทและเริ่มชีวิตใหม่ ชีวิตของเขาจะเป็นอย่างไร จะสวยงามและโรแมนติกเหมือนในหนังสือที่เคยผ่านตามารึเปล่า วันนี้เราขอแบ่งปันเรื่องราวของตัวเองทั้งก่อนและหลังการย้ายมาอยู่ในชนบทที่จ.สุรินทร์
Continue reading เกษตรสีเขียว: จุดเริ่มต้นของคนรุ่นใหม่ →
อ.ดร. มณเฑียร สติมานนท์
คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
นิยาม
เกษตรสีเขียวหรือเกษตรยั่งยืนนับเป็นส่วนสำคัญของเศรษฐกิจสีเขียวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เนื่องจากภาคเกษตรทั้งในระดับชาติและนานาชาติเป็นภาคการผลิตสำคัญที่นอกจากสร้างการจ้างงานและอาชีพให้คนจำนวนมาก รวมทั้งเป็นภาคที่สร้างรายได้ให้กับประชากรผู้มีสถานะยากจนโดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา โดยเกษตรสีเขียวครอบคลุมไปถึงการผลิตและบริโภคสินค้าอาหาร เส้นใย พืช และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ต่าง ๆ โดยใช้กระบวนการผลิตที่ปกป้องและส่งเสริมสภาพแวดล้อม สุขภาพ ชุุมชน และสวัสดิการแรงงาน และสวัสดิการปศุสัตว์ โดยรูปแบบการผลิตและบริโภคนี้จะไม่ส่งผลต่อศักยภาพการผลิตและบริโภคสินค้าของผู้คนและสภาพแวดล้อมในอนาคต

ความจำเป็น
ในอดีตที่ผ่านมาการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของภาคเกษตรได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของกระบวนการเกษตรอุตสาหกรรมที่เน้นไปที่การใช้ปัจจัยภายนอกภาคการเกษตร และเป็นการผลิตที่เน้นไปที่การใช้ทรัพยากรเข้มข้น เช่น การใช้พลังงาน สารเคมี น้ำ เครื่องจักร หรือเมล็ดพันธ์ใหม่ๆ เพื่อให้ไล่ตามการผลิตในภาคอุตสาหกรรมในระดับการพัฒนาในยุค 2.0 อย่างไรก็ตามแม้การผลิตสินค้าเกษตรดังกล่าวจะส่งผลให้ภาวะขาดอาหารของประชากรโลกลดลงอย่างมีนัยสำคัญในช่วงระยะเวลา 50 ปีที่ผ่านมา แต่ในปัจจุบันมีประชากรโลกมากกว่าหนึ่งพันล้านคนที่ประสบปัญหาด้านการขาดสารอาหาร (UNEP 2011) และในขณะเดียวกันการพยายามสร้างอุตสาหกรรมการเกษตรดังกล่าวได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการพัฒนาทั้งทางด้านสังคม เศรษฐกิจ และสภาพแวดล้อมอย่างรุนแรง อาทิ การเสื่อมสภาพของระบบชีวภาพ และสิ่งแวดล้อม การชะล้างหน้าดิน การลดลงและการเข้าถึงอุปทานน้ำผิวดิน ปัญหาคุณภาพน้ำที่ผ่านการใช้งานจากภาคเกษตร ปัญหาความขัดแย้งระหว่างภาคเกษตรชุมชนและเกษตรอุตสาหกรรม และ ปัญหาการเปลี่ยนสภาพภูมิอากาศ
การทำให้เกษตรเป็นสีเขียว (Greening the Agriculture)
การทำให้ภาคเกษตรเป็นสีเขียวขึ้นอยู่ปัจจัยหลักที่ประกอบไปด้วย การให้ความสำคัญกับการปฏิบัติและเทคนิคการผลิตที่เหมาะสมกับท้องถิ่นและมีความหลากหลาย โดยเน้นไปที่
- การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอาหารเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการทั้งภายในและในตลาดระหว่างประเทศและต้องมีการคำนึงถึงความสมดุลในการใช้งานสภาพแวดล้อมและระบบนิเวศในทางที่ยั่งยืน
- การเพิ่มผลตอบแทนให้กับเกษตรกรและชุมชนทั้งในแง่ของการผลิตสินค้าเกษตรสีเขียว และการปรับปรุงระบบนิเวศ ลดของเสีย และการสร้างความเข้มแข็งและประสิทธิภาพตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน โดยเฉพาะในภาคเกษตรนั้นการลดผลกระทบภายนอกมักส่งผลให้เกิดผลกระทบภายนอกเชิงบวก อาทิการรักษาป่าต้นน้ำ และการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เป็นต้น
- การประยุกต์ใช้เทคนิคการผลิตที่ขึ้นอยู่กับวิถีทางธรรมชาติในการบริหารจัดการโรคพืชและสัตว์ วัชพืช แมลงศัตรูพืช รวมทั้งการจัดการด้านปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ แต่ไม่มีการปฏิเสธการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ส่งผลให้การผลิตและบริโภคสินค้าเกษตรมีความเป็นสีเขียวมากขึ้นไม่ว่าจะเป็นระบบขนส่งและระบบความเย็นสมัยใหม่ การพัฒนาสารเคมีที่เป็น agro-based รวมทั้งการสร้างระบบวิสาหกิจชุมชนและกิจการเพื่อสังคม
- การสร้างระบบประเมินและตรวจสอบที่ขึ้นอยู่กับแนวคิดด้านเกษตรสีเขียวต่าง ๆ ที่ขึ้นกับลักษณะทางชุมชน และพื้นที่อาทิ
- เกษตรอินทรีย์ (Organic Farming Practice)
- เกษตรที่ดี (Good Agricultural Practice)
- เกษตรที่เป็นธรรม (Fair Trade Practice)
- เกษตรนิเวศวิทยา (Ecological Agriculture Practice)
- เกษตรเชิงอนุรักษ์ (Conservation Agriculture Practice)
- การสร้างกรอบนโยบายที่สอดคล้องกันระหว่างนโยบายระดับนานาชาติที่เป็นตามเงื่อนไขทางเศรษฐกิจ และสถาบัน

คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ Faculty of Economics, Thammasat University